สำหรับประเทศไทยในอดีต นิยมสร้างบ้านด้วยไม้ แต่เนื่องด้วยไม้เริ่มหายากและมีราคาสูง ปัจจุบันจึงนิยมสร้างบ้านก่ออิฐฉาบปูนกันมาก บ้านลักษณะนี้จะใช้คานและเสาเป็นส่วนสำคัญในการรับน้ำหนัก ซึ่งเป็นข้อเสียที่อาจส่งผลให้พื้นที่ใช้สอยภายในบ้านลดน้อยลงไป สำหรับเนื้อหาชุดนี้ พาคุณผู้ชมไปรู้จักกับ “บ้านผนังรับน้ำหนัก” จุดเด่นของบ้านลักษณะนี้ไม่ต้องใช้เสาและคาน เป็นระบบการก่อสร้างที่ใช้คอนกรีตหล่อในที่ หนาประมาณ 20 เซนติเมตรเป็นผนังรับน้ำหนัก และหล่อพื้นคอนกรีตหนาประมาณ 30 เซนติเมตร เทคโนโลยีนี้ช่วยให้บ้านไม่มีเสา ไม่มีคาน พื้นที่ภายในจึงโล่ง สามารถกั้นผนังได้อย่างลงตัวมากยิ่งขึ้น
ลักษณะของบ้านคอนกรีตหล่อผนังรับน้ำหนัก แตกต่างจากบ้านระบบคานเสาตรงที่ ผนังจะทำหน้าที่รับน้ำหนักจากพื้นโดยตรง ถ่ายเทน้ำหนักในแนวดิ่งลงไปสู่ระบบฐานรากและเสาเข็ม การก่อสร้างจำเป็นต้องให้สถาปนิกและวิศวกร ออกแบบโครงสร้างให้ได้สัดส่วนที่ถูกต้องแม่นยำสูง เนื่องด้วยผนังลักษณะนี้ไม่สามารถซ่อมแซมหรือทุบเจาะได้โดยง่ายเหมือนกับผนังก่ออิฐฉาบปูน ทุก ๆ ขั้นตอนต้องควบคุมเป็นพิเศษ เจ้าของบ้านจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเลือกหาสถาปนิกและผู้รับเหมา ควรเลือกทีมที่มีประสบการณ์เท่านั้น
อีกหนึ่งข้อดีของผนังคอนกรีตหล่อ เนื้อคอนกรีตจะผสานเป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด ผนังไม่แตกร้าว ไม่ก่อให้เกิดความชื้นซึ่งเป็นต้นเหตุของเชื้อรา ผิวคอนกรีตจะสวยเนียนหรือไม่ขึ้นอยู่กับความชำนาญของผู้รับเหมาและการเลือกใช้แบบในการหล่อ หากต้องการให้ผนังสวยเนียนนิยมใช้แบบเหล็ก แต่ทั้งนี้แบบเหล็กมีราคาสูงมาก สำหรับประเทศไทยนิยมใช้ไม้อัดดำ ซึ่งจะให้ความเนียนกว่าไม้อัดทั่วไป การยึดแบบหล่อกับคอนกรีตจะใช้เหล็กกลมหรือน็อตตัวยาวเจาะทะลุไม้แบบทั้งสองด้าน เว้นระยะเหล็กยึดแบบให้เป็นระเบียบสวยงาม เมื่อถอดแบบแล้วจะเห็นได้ว่าผนังคอนกรีตหล่อ จะมีรูเล็ก ๆ ตรงส่วนนี้นับเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของบ้านผนังรับน้ำหนัก
รูจากรอยท่อ เป็นส่วนหนึ่งของลวดลายผนัง