เริ่มจากส่วนประกอบของอิฐทั้งสองแบบครับ
– อิฐมวลเบา ทำมาจาก ทราย ซีเมนต์ ปูนขาว ยิปซั่ม และผงอลูมิเนียม มีฟองอากาศมากประมาณ 75 %
– ส่วนอิฐมอญแดง ทำมาจาก ดินเหนียวปนทราย ผสมแกลบและขี้เถ้า แล้วเข้าเตาอบ (แต่เมื่อสมัยก่อนเขาทำจากดินแม่น้ำ)
คุณสมบัติของอิฐมอญแดง
1. แข็งแรงทนทนกว่าอิฐมวลเบา
2. กันชื้นได้ดีกว่าอิฐมวลเบา (ถ้าเราใช้อิฐมวลในส่วนห้องน้ำ)
3. ราคาของอิฐมอญแดงจะ ถูกกว่า อิฐมวลเบา
4. ก่อสร้างได้ช้ากว่าอิญมวลเบา (แต่ถ้าจ้างแบบเหมาจ่ายก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร)
5. เรื่องของการเจาะยึดผนัง อิฐมอญแดงก็จะทำได้ดีกว่า
คุณสมบัติของอิฐมวลเบา
1. ถ้าว่าด้วยเรื่องของการเก็บเสียง อิฐมวลเบาจะเก็บเสียงได้ดีกว่ามาก จึงเหมาะสำหรับงาน คอนโด หรือ หอพัก
2. อิฐมวลเบาจะกันความร้อนได้ดีกว่าอิฐมอญแดง
*สำหรับเรื่องกันความร้อนนั้นถึงจะใช้ อิฐมวลเบา แต่หลังคาไม่กันความร้อน มันก็คงจะร้อนเหมือนเดิม
ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมนั่้นๆ ด้วย ว่าเราสร้างบ้านที่ไหน สภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร และต้องใช้งานยังไงบ้าง ยังไงก็ลองนำไปประยุกต์ใช้ดูนะจ๊ะ
เมื่อเปรียบเทียบคุณสมบัติ คุณภาพของบ้าน ที่สร้างด้วยอิฐมวลเบา และอิฐมอญก่อ 2 ชั้น (มีช่องว่างตรงกลาง) แยกเป็นประเด็นได้ดังนี้
คุณสมบัติทางกายภาพ
อิฐมวลเบา หนา 10 เซนติเมตร เมื่อรวมน้ำหนักวัสดุรวมปูนฉาบจะหนัก 120กิโลกรัม
ในขณะที่อิฐมอญก่อ 2 ชั้น (เว้นช่องว่างตรงกลาง) จะหนัก 180 กิโลกรัม
ซึ่งน้ำหนักของการก่ออิฐมอญจะมากกว่าทำให้ต้องเตรียมโครงสร้างเผื่อกันรับน้ำหนักในส่วนนี้ด้วย ทำให้ต้นทุนโครงสร้างเพิ่มขึ้น
การกันความร้อน
หากเป็นกรณีปกติ “อิฐมวลเบา”จะมีค่าการนำความร้อนที่ต่ำกว่าอิฐมอญประมาณ 8-11 เท่า แต่การก่อผนังภายนอกอิฐจะต้องมีความหนา 10 เซนติเมตร และผนังภายในหนา 7 เซนติเมตร ขึ้นไป จึงจะสามารถกันความร้อนได้ดี แต่ในกรณีใช้อิฐมอญก่อ 2 ชั้น ตัวช่องว่างตรงกลาง จะทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อนที่ดี และอิฐแถวด้านในไม่สัมผัสความร้อนโดยตรง จึงทำให้คุณสมบัติตรงนี้ของอิฐมอญจะมีความสามารถในการกันความร้อนได้ดีกว่า แต่การเว้นช่องว่างไม่ควรต่ำกว่า 5 เซนติเมตร
การกันเสียง
ปกติอิฐมวลเบาจะกันเสียงได้ดีกว่าอิฐมอญประมาณ 20% แต่ในกรณีใช้อิฐมอญก่อ 2 ชั้น ช่องว่างตรงกลางจะทำหน้าเป็นฉนวนกันเสียงได้ดีกว่าเกือบ 2 เท่า แต่อิฐมวลเบาจะลดการสะท้อนของเสียงได้ดีกว่า
การกันไฟ
อิฐมอญก่อ 2 ชั้นมีฉนวนตรงกลาง (ช่องว่างตรงกลาง) จะกันไฟได้ดีกว่าอิฐมวลเบาเล็กน้อย
ความแข็งแรง
การใช้งานทั่วไปไม่ต่างกัน แต่ผนังอิฐมอญจะเหมาะสำหรับการใช้วัสดุกรุผนังที่มีน้ำหนักมาก เช่น หินแกรนิต หรือหินอ่อน
การก่อสร้าง
ความเรียบร้อยของการก่ออิฐมอญจะขึ้นอยู่กับฝีมือในการก่อให้ได้แนวดิ่งของช่างก่อ หากก่อไม่ได้แนวดิ่งและการฉาบความหนาของปูนไม่สม่ำเสมอ อาจจะทำให้ปูนฉาบเกิดการแตกร้าวได้ ใช้เวลาก่อนานกว่าเนื่องจากมีขนาดเล็ก รวมถึงขั้นตอนการเตรียมและจัดเก็บวัสดุซึ่งเป็นสาเหตุของการสูญเสียวัสดุจากการก่อสร้างไปมากพอสมควร ในขณะที่อิฐมวลเบาการสูญเสียวัสดุจะน้อยกว่า เพราะขั้นตอนการทำงานง่ายกว่า และวัสดุมีขนาดใหญ่แต่ละก้อนได้มาตรฐานเดียวกัน มีน้ำหนักเบาทำให้ก่อสร้างได้รวดเร็วและเรียบร้อยกว่า
ราคาวัสดุและค่าแรง
เมื่อเทียบราคาวัสดุบวกค่าแรงต่อตารางเมตร อิฐมวลเบาหนา 10 เซนติเมตร ราคาเฉลี่ยประมาณ 360-400 บาท/ตารางเมตร ส่วนอิฐมอญก่อ 2 ชั้น (เว้นช่องว่างตรงกลาง) ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 400-420 บาท/ตารางเมตร
นอกจากนี้การก่ออิฐมอญ 2 ชั้น หากก่อกินพื้นที่ด้านในมาก จะทำให้พื้นที่ใช้สอยภายในบ้านลดลง แต่ปกติโดยทั่วไปช่างจะก่อเต็มหน้าเสา
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะใช้วัสดุคอนกรีตมวลเบา หรือ อิฐมอญ จะมีข้อดีและข้อด้อย และต้นทุนที่แตกต่างกันไป เช่น ก่อผนังด้วยอิฐมวลเบาทั้งหมดราคาค่าก่อก่อสร้างจะมีตัวเลขสูงขึ้นกว่าการก่อด้วยอิฐมอญชั้นเดียว แต่เมื่อนำอิฐมอญมาก่อผนัง 2 ชั้นราคาค่าก่อก่อสร้างกลับสูงกว่า เราจะเห็นบางโครงการจะใช้ทั้งคอนกรีตมวลเบา และอิฐมอญ สร้างบ้านหลังเดียว โดยส่วนผนังภายนอกที่ได้รับแสงแดดโดยตรง จะก่อด้วยอิฐมวลเบาหรือก่ออิฐมอญ 2 ชั้น ส่วนผนังภายในอาจจะก่อด้วยอิฐมอญชั้นเดียว หรืออิฐมวลเบาที่ความหนาน้อยกว่า